การสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและบทความในวารสารระดับนานาชาติ และการสนับสนุนงานด้านนวัตกรรม
อนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์
ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
ผลงานที่มีสิทธิรับการสนับสนุนผลงานการตีพิมพ์
ผลงานที่มีสิทธิรับการสนับสนุนผลงานการตีพิมพ์ จะต้องตีพิมพ์ (Publish online) ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2567- 31 ตุลาคม 2568 (1 November 2024- 31 October 2025)
ช่วงเวลาที่พิจารณาผลงานตีพิมพ์
31 ตุลาคม 2568 ถึง 31 มีนาคม 2569
หลักเกณฑ์การสนับสนุน
- ผู้ขอรับการสนับสนุนต้องมีสถานะ ณ ช่วงเวลาในการพิจารณาเรื่องขอการสนับสนุน ดังนี้
- เป็นสมาชิกของ อนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ (TOTS) ประเภท Active member โดยจะต้องเข้าร่วมงานประชุมงานที่จัดโดยอนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ เป็นจำนวนอย่างน้อย 1 ครั้ง สมาชิกสภาพจะมีอายุ 2 ปีโดยสมาชิกสภาพนั้น จะเริ่มนับวันที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งล่าสุด หรือ
- อยู่ในคณะกรรรมการบริหารของอนุสาขา เป็นกรรมการสถาบัน หรือ ช่วยเหลืองานอนุสาขาฯ เช่น เป็นวิทยากรบรรยายในงานที่จัดขึ้นโดยอนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ สมาชิกสภาพจะมีอายุ 5 ปี โดยสมาชิกสภาพนั้นจะเริ่มนับวันแรกที่ดำรงตำแหน่ง หรือ วันที่จัดกิจกรรม หรือ
- แพทย์ต่อยอดด้านการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ (fellowship) ซึ่งจัดโดยอนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ ให้ สิทธิ active member โดยสมาชิกสภาพจะมีอายุ 2 ปี โดยสมาชิกสภาพนั้น จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ศึกษาแพทย์ต่อยอดด้านการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์
หมายเหตุ ทั้งนี้สถานะของผู้ได้รับการสนับสนุนจะได้รับการพิจารณาจาก คณะกรรมการวิจัยอีกครั้ง โดยจะถือผลคำตัดสินของคณะกรรมการเป็นอันสิ้นสุด
- ผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็น Corresponding author หรือ First author ในผลงานวิจัย โดยจะได้รับการสนับสนุนเพียงท่านใดท่านหนึ่งเท่านั้น ผลงานประเภท ง. (สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์) ผู้ขอรับการสนับสนุน จะต้องเป็นผู้ประดิษฐ์หลัก หรือเป็นผู้ประดิษฐ์ร่วมที่สำคัญเท่านั้น
- หัวข้องานที่ขอการสนับสนุน จะต้องเป็นเรื่องเฉพาะทางด้าน การบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ (Orthopaedic Trauma) โดยการพิจารณาของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย ประธานอนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ และคณะกรรมการฝ่ายวิจัยของอนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์
- ผลงานที่จะสนับสนุน มีดังต่อไปนี้ Original article, Review article, Technical Report, Brief report, Case report (โดยไม่รวม Letter to editor), สิทธิบัตร, อนุสิทธิบัตร และ ลิขสิทธิ์
- ผลงานวิจัยต้องไม่เป็นผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับ Resident หรือ Fellow ของผู้ขอรับการสนับสนุน
- การขอทุนสนับสนุนผลงานวิจัย ต้องขอภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากผลงานได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการทางอิเลคทรอนิกส์ (Publish online)
- ผู้ขอรับการสนับสนุนผลงานตีพิมพ์ จะได้รับการสนับสนุนไม่เกิน 3 เรื่อง ต่อปี
- งานวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทางอนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ การอนุมัติการสนับสนุนขึ้นกับการตัดสินของคณะอนุกรรมการ
หมายเหตุสำคัญ
งานวิจัยที่ยื่นขอรับการสนับสนุนผลงานตีพิมพ์ทั้งหมด จะผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการฝ่ายวิจัย และนวัตกรรม เพื่อจัดลำดับผลงานตามคุณภาพ และความน่าสนใจ โดยใช้เกณฑ์การตัดสินที่ทางอนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์จัดทำขึ้น ผลงานที่ผ่านเกณฑ์ จะได้รับการสนับสนุนตามงบประมาณที่จัดสรรในแต่ละปี
ชนิดผลงานวิจัยและบทความวิชาการขอรับทุน
ผลงานประเภท ก. งานวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Orthopaedic Trauma ตีพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศ และดำเนินการวิจัยในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบ Original article ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Pubmed (Medline) หรือ Scopus ที่มีการเผยแพร่ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2024 ถึง 31 ตุลาคม 2025
ผลงานประเภท ข. บทความวิชาการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Orthopaedic Trauma ตีพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศ และดำเนินการวิจัยในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบ Review article, Case report, Surgical technique หรือ Short communication ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Pubmed (Medline) หรือ Scopus ที่มีการเผยแพร่ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2024 ถึง 31 ตุลาคม 2025
ผลงานประเภท ค. บทความวิชาการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Orthopaedic Trauma ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบ Book chapter ในหนังสือ/ตำราภาษาต่างประเทศ ที่มีการแพร่ในปี 2024 เป็นต้นไป โดยเป็นหนังสือที่มีบรรณาธิการ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และต้องมีผู้ร่วมนิพนธ์ในหนังสือตั้งแต่ 5 ท่านขึ้นไป
- ข้อกำหนดในการขอเงินสนับสนุนผลงาน Book chapter ในหนังสือเล่มเดียวกัน โดยอาจจะมีข้อกำหนดจำนวนสูงสุดที่สามารถขอเงินสนับสนุนได้
- การพิจารณาว่าหนังสืออยู่ในระดับนานาชาติ ให้ถือว่าอยู่ใน index medicus เป็นสำคัญ (Scopus, Medline)
ผลงานประเภท ง. ผลงานประเภท สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับ Orthopaedic Trauma ที่มีการดำเนินการศึกษาวิจัยในประเทศไทย สามารถจดทะเบียนผลงานได้ทั้งภายในและต่างประเทศ ผลงานใดๆ จะได้รับการสนับสนุนจำนวน 1 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ผลงานที่ขอรับการสนับสนุนจะต้องเป็นผลงานไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนผลงานถึงช่วงเวลาพิจารณาผลงานตีพิมพ์
หมายเหตุ ผลงานที่ไม่ได้รับการสนับสนุนได้แก่ Proceeding, Letter to editor, J Med Assoc Thai ฉบับ supplement
เงินทุนสนับสนุนการตีพิมพ์
- รางวัลผลงานวิชาการ
ผลงานประเภท ก ให้ทุนสนับสนุนตามระดับ Quartile ของ Journal Citation Reports (JCR) ตามฐานข้อมูลล่าสุด ในหัวข้อ orthopedic โดยให้การสนับสนุนดังนี้
- ระดับ Q1 สนับสนุนเรื่องละ 10,000 บาท
(กรณีที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเรื่องละ 3,500 บาท)
- ระดับ Q2 สนับสนุนเรื่องละ 8,000 บาท
(กรณีที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเรื่องละ 2,500 บาท)
- ระดับ Q3 สนับสนุนเรื่องละ 6,000 บาท
(กรณีที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเรื่องละ 1,800 บาท)
- ผลงานวิจัยในข้อ ก (original article) ในวารสารระดับ Q4 ตาม JCR หรือวารสารที่ไม่มี impact factor ให้การสนับสนุนเรื่องละ 4,000 บาท
(กรณีที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเรื่องละ 1,200 บาท)
หมายเหตุ ผลงานประเภท ก ที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุม TOTAC ปีถัดไป โดย สามารถให้ผู้นิพนธ์ร่วม (Co-author) เป็นผู้นำเสนอได้ หากผู้วิจัยที่ได้รับการสนับสนุนไม่ได้นำเสนองานวิจัย จะไม่มีสิทธิ์ขอรับเงินสนับสนุนในปีถัดๆไป จนกว่าจะได้นำเสนอ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นที่อธิบายได้
ผลงานประเภท ข ให้ทุนสนับสนุนเรื่องละ 4,000 บาท
(กรณีที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเรื่องละ 1,200 บาท)
ผลงานประเภท ค ให้การสนับสนุนเรื่องละ 10,000 บาท
(กรณีที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเรื่องละ 3,500 บาท)
ผลงานประเภท ง ให้การสนับสนุนดังนี้
- ผลงานสิทธิบัตร ให้การสนับสนุนผลงานละ 10,000 บาท
- ผลงานอนุสิทธิบัตร ให้การสนับสนุนผลงานละ 8,000 บาท
- ผลงานลิขสิทธิ์ ให้การสนับสนุนผลงานละ 4,000 บาท
หมายเหตุ ผลงานประเภท ง ที่ได้รับเงินสนับสนุน นวัตกร หรือผู้มีส่วนร่วมหลักในงาน จะต้องนำเสนอผลงานในงานประชุม TOTAC ปีถัดไป ในช่วง “Innovation session” หากนวัตกรที่ได้รับการสนับสนุนไม่ได้นำเสนองานวิจัย จะไม่มีสิทธิ์ขอรับเงินสนับสนุนในปีถัดๆไป จนกว่าจะได้นำเสนอ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นที่อธิบายได้
หมายเหตุ
- คำจำกัดความของ “ผลงานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม” คือ ผลงานใหม่ที่เกิดจากการคิดค้นของนวัตกร เช่น อุปกรณ์ช่วยผ่าตัด อุปกรณ์ดามกระดูก ซอฟแวร์ วิธีการผ่าตัดแบบใหม่ (surgical approach หรือ surgical technique) เป็นต้น โดยผลงานดังกล่าวจะต้องประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของสิ่งนั้นมาก่อน หรือ เป็นอุปกรณ์หรือสิ่งที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่เดิม และมีศักยภาพที่จะต่อยอดผลงานให้เป็นประโยชน์ได้ ทั้งนี้ นิยามของผลงานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม จะผ่านการพิจารณา โดยถือมติของคณะกรรมการเป็นอันสิ้นสุด
ผู้ที่มีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุนจะต้องเป็นสมาชิกของอนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ (TOTS) โดยการพิจารณารางวัลสนับสนุนผลงานตีพิมพ์นั้น จะถือมติของคณะกรรมการเป็นอันสิ้นสุด